บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทเพลง ฝากใจไว้กับสำนวน

บทเพลง  ฝากใจไว้กับสำนวน
ทำนองเพลง : ขอใจเธอแลกเบอร์โทรศิลปิน หญิงลี  ศรีจุมพล
อัลบั้ม : ขาขาวสาวลำซิ่งสังกัด แกรมมี่ โกลด์

แค่เพียงได้ดู  ก็ทำให้รู้สำนวนที่ครูให้มา  อยากบอกเหลือเกินว่ามันไม่ยากหรอกหนา  ขอเชิญเถิดหนาตั้งใจเล่าเรียนเถิดเรา 
สำนวนที่มา    ถ้อยคำล้ำค่าเรียบเรียงขึ้นเป็นโวหาร  แฝงด้วยความหมายชั่วดีเตือนใจนะหลาน    ทุกแหล่งสถานโบราณท่านสอนให้จำ
สำนวนหนึ่งอาจจะสื่อถึงความหมาย บอก บอก บอก ถึงชั่วดี   ต่อจากนี้จะได้ยินสำนวนที่ว่า
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไม่ดีนะเธอ   ปลากระดี่ได้น้ำ  อดเปรี้ยวกินหวาน  แมวไม่อยู่หนูร่าเริง จำเอาไว้นะสำนวนไทยของเราล้ำค่า   ฝากให้เธอรักษา  สืบทอดปัญญา  คุณธรรมของคนไทย
คำคมคำสอน    ฉันอยากอ้อนวอนให้เธอตั้งใจศึกษา  ประโยชน์สำนวนนั้นมีมากมายนักหนา  เป็นเครื่องชี้ว่าความเชื่อในสังคมไทย
สำนวนหนึ่งอาจจะสื่อถึงความหมาย บอก บอก บอก ถึงชั่วดี   ต่อจากนี้จะได้ยินสำนวนที่ว่า 
พรากลูกนก  (อ้าว) ฉกลูกกา    พรากจากอกแม่   ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว    เกินความคาดหมาย  จำเอาไว้นะสำนวนไทยของเราล้ำค่า   ฝากให้เธอรักษา  สืบทอดปัญญา  คุณธรรมของคนไทย
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายความหมายและที่มาของสำนวนได้
2. อธิบายความหมายและบริบทของการใช้สำนวนได้
สาระที่สอนจากบทเพลง ฝากใจไว้กับสำนวน
สำนวน หมายถึง โวหาร ทำนองพูด ถ้อยคำที่เรียบเรียง ไม่ได้ความหมายของตัวมันเอง ต้องนำไปประกอบบุคคลกับเรื่อง หรือเหตุการณ์จึงจะได้ความหมายเป็นคติ เตือนใจ ตัวอย่างสำนวน เช่น
- ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ   หมายถึง เปรียบเทียบถึงการลงทุนที่สูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์
- ปลากระดี่ได้น้ำ หมายถึง     แสดงทำดีใจจนเกินงาม
- อดเปรี้ยวกินหวาน หมายถึง    ค่อยทำค่อยไปแล้วจะได้ผลดี
- แมวไม่อยู่หนูร่าเริง   หมายถึง     ผู้ใหญ่ไม่อยู่ผู้น้อยเหลิง
- พรากลูกนก ฉกลูกกา หมายถึง   ทำให้ลูกพลัดพรากจากพ่อแม่
- ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หมายถึง ทําอย่างเดียวได้ผล ๒ อย่าง, ลงทุนครั้งเดียวได้ผลกําไร ๒ ทาง
สื่อถึงประโยชน์ของสำนวน ว่าเป็นการแฝงความหมายเตือนใจ บางสำนวนมีมาแต่ช้านาน แต่ก็ยังสามารถนำมาสอนคนรุ่นหลังได้เช่นกัน




การวิเคราะห์วรรณคดีไทย เรื่อง...ขุนช้าง ขุนแผน

การวิเคราะห์วรรณคดีไทย
เรื่อง...ขุนช้าง ขุนแผน

 จุดจบ...ของนางวันทอง 
            นางวันทองเป็นตัวละครตัวเอกในบทเสภาขุนช้างขุนแผน  วรรณคดีเรื่องสำคัญของไทย  ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวเล่าขานสืบต่อมาว่า  นางวันทองสองใจ  และดูเหมือนจะเป็นสำนวนคำพังเพยที่เปรียบเทียบผู้หญิงที่มีสามี ๒ คน หรือหลายคนหรือหญิงที่มีจิตใจไม่มั่นคงต่อสามีตนเอง  มีชู้หรือไม่ซื่อตรงต่อคู่ของตนว่ามีพฤติกรรมเหมือนนางวันทอง
นางวันทองมีชื่อเดิมคือ นางพิมพิลาไลย เป็นลูกสาวของพันศรโยธากับนางศรีประจันมีสามี  คนแรกคือ พลายแก้วซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระพันวษาให้เป็นขุนแผนหลังจากเสด็จศึกกับเชียงใหม่  ชีวิตของนางผูกพันจนต้องมีสามีอีกคนคือขุนช้าง  ชีวิตของตัวละครทั้ง ๓ พัวพันกันอย่างชนิดแยกกันไม่ออกและเมื่อถึงตอนที่กวีได้แต่งไว้น่าสนใจมาก ตลอดจนเป็นช่วงตอนที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้ศึกษา  คือ  ตอนขุนช้างถวายฎีกาเป็นตอนที่ไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้แต่ง แต่ในตอนนี้ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอย่างหลากหลายทั้งเศร้า  เสียใจ  สงสาร  เสียดาย  สังเวช  หรือสะใจ เพราะนางวันทองถูกเจ้าชีวิต คือสมเด็จพระพันวษาทรงตัดสินให้ประหารชีวิต  เป็นจุดสุดยอด (climax) ของเรื่องแสดงถึงความสามารถของกวีที่เข้าถึงภาวะอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นโดยไม่เลือกว่าผู้นั้นจะอยู่ในวัยใด  เพศใดหรือสถานภาพในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอน  ขุนช้างถวายฎีกา  เป็นตอนที่โดดเด่นยิ่งตอนหนึ่ง  เพราะนางวันทองซึ่งเป็นตัวละครตัวเอกของเรื่องต้องตกเป็นจำเลยของสังคมในยุคที่ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า
            ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าบทบาทและพฤติกรรมของตัวละครชายในตอนนี้คือสมเด็จพระพันวษา 
ขุนช้าง  ขุนแผน  และพระไวยได้แสดงให้เห็นว่าสถานภาพของผู้ชายในสังคมไทยเหนือกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจนยิ่ง นางวันทองเป็นตัวอย่างของผู้หญิงในสังคมไทยในยุคนั้น  นางถูกกำหนดบทบาทและพฤติกรรมจากบรรดาบุรุษเพศ ทั้งขุนช้าง  ขุนแผน  และพระไวยต่างก็ปรารถนาที่จะตักตวงความสุขจากนางวันทองโดยไม่เคยคำนึงว่านางจะรู้สึกอย่างไร  พฤติกรรมของทั้งสามมักเกิดจากการใช้อารมณ์เหนือเหตุผล  เริ่มตั้งแต่พระไวยซึ่งมียศถาบรรดาศักดิ์  มีภรรยางามสองคนและมีบิดาอยู่ด้วยแล้ว  แต่ยังรู้สึกว่าชีวิตของตนไม่สมบูรณ์เพราะ  พร้อมญาติขาดอยู่แต่มารดา  จะเห็นว่าตั้งแต่เด็กพระไวยไม่เคยอยู่ร่วมพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูกเหมือนดังครอบครัวอื่น  จึงต้องการจะเติมส่วนขาดเพื่อให้ชีวิตของตนสมบูรณ์ทำให้ตัดสินใจไปพานางวันทองมาจากบ้านขุนช้าง  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะต้องเกิดเรื่องและทั้ง ๆ ที่นางไม่เต็มใจ  แต่ที่ต้องไปด้วยเพราะพระไวยขู่นางว่า

                        แม้นมิไปให้งามก็ตามใจ                  จะบาปกรรมอย่างไรก็ตามที
                   จะตัดเอาศีรษะของแม่ไป                 ทิ้งแต่ตัวไว้ให้อยู่นี
               ครั้นเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นจริง ๆ พระไวยก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้  ส่วนขุนช้างนั้นเมื่อทราบว่านางวันทองถูกพาตัวไปก็โกรธแค้นนัก  แทนที่จะคิดว่าเป็นความผิดของผู้ที่มาพานางไป  กลับประณามนางโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า
                                                        สองหนสามหนก่นแต่หนี                พลั้งทีลงไม่รอดนางยอดหญิง
                          คราวนั้นอ้ายขุนแผนมันแง้นชิง                      นี่คราวนี้หนีวิ่งไปตามใคร
                          ไม่คิดว่าจะเป็นเห็นว่าแก่                             ยังสาระหลบลี้หนีไปไหน
                                 เอาเถิดเป็นไรก็เป็นไป                               ไม่เอากลับมาได้มิใช่กู

            และขุนช้างก็ทำตามที่คิดด้วยการถวายฎีกาเพื่อให้สมเด็จพระพันวษาตัดสินให้นางกลับมาอยู่กับตนโดยไม่คิดถึงใจนางเลย
             ฝ่ายขุนแผนซึ่งมีทั้งนางลาวทองและนางแก้วกิริยาเคียงข้างอยู่แล้ว  เมื่อทราบว่าพระไวยพานางวันทองมาก็เข้าไปหานางด้วยความเสน่หา  หวังจะได้ร่วมรักโดยไม่ได้คิดถึงอารมณ์และความรู้สึกของนางเช่นกัน  แต่นางก็ไม่สมยอมเมื่อเกิดเหตุขึ้นภายหลัง  ขุนแผนก็มิอาจช่วยนางได้  ทั้งขุนช้าง  ขุนแผนและ
พระไวยเมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพันวษา  ความเป็นตัวของตัวเองก็สิ้นไป  ทั้งนี้เพราะความเกรงพระราชอาญาและค่านิยมแห่งความจงรักภักดีที่ข้าทหารพึงมีต่อพระเจ้าแผ่นดิน  ดังนั้นเมื่อพระพันวษาโปรดให้นางวันทองตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับใคร  ทั้งสามคนก็มิกล้าเปิดปากกราบบังคมทูลช่วยนางแต่อย่างใด  ในที่สุดผลร้ายก็ตกอยู่ที่นางวันทองเพียงคนเดียว

               สมเด็จพระพันวษาเป็นตัวละครที่มีบุคลิกภาพเด่นอย่างยิ่งในตอนนี้แสดงให้เห็นถึงพระอุปนิสัยที่มีอารมณ์ร้อน  แต่ก็มีพระทัยอ่อนและเปี่ยยมไปด้วยพระเมตตาต่อข้าแผ่นดิน  เพราะพระปรานีเหมือน
ลูกในอุทร  ด้วยพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์  พระราชวินิจฉัยในเรื่องใดจึงถือได้ว่าเป็นที่สุดเสมอ  ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็อยู่ที่พระองค์เท่านั้น  อย่าง ไรก็ตามสมเด็จพระพันวษาเป็นตัวละครที่น่าเห็นใจที่ต้องทรงรับรู้เกี่ยวกับ ความวุ่นวายของครอบครัวขุนช้างขุนแผนมาโดยตลอดไม่รู้จักสิ้นสุด  ทั้ง ๆ ที่มีพระราชภารกิจและพราะราชกรณียกิจในการปกครองประเทศ นอกจากต้องทรงแก้ปัญหาระดับชาติแล้ว  ยังต้องทรงลงมาแก้ปัญหาระดับครอบครัวของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอีกด้วย  ทรงเปรียบเสมือนพ่อหรือผู้ใหญ่ในครอบครัว  เวลาสมาชิกในครอบครัวมีเรื่องเดือดร้อนมาฟ้องร้องก็ต้องทรงรับเป็นพระราชธุระ ไต่สวนให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกคน  ในตอนนี้ก็เช่นกันได้พระราชทานโอกาสแก่นางวันทองซึ่งเป็นคนกลางและเป้นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวงตัดสินใจ  แต่นางก็ไม่อาจตัดสินใจได้  ทำให้สมเด็จพระพันวษากริ้วเพราะเข้าพระทัยว่านางเป็นหญิงมักมากในกามคุณ  ถ้าอ่านแต่เพียงผิวเผินอาจเห็นว่าทรงใช้แต่พระอารมณ์  แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้ง
แล้วตัวนางวันทองเองรวมทั้งเงื่อนไขทางค่านิยมของสังคมมีส่วนผลักดันให้สมเด็จพระพันวษาทรงตัดสินประหารชีวิตนาง
            นางวันทองซึ่งมีบทบาทเด่นที่สุดในตอน  ขุนช้างถวายฎีกา ได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพของผู้หญิงในยุคนั้น  ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพลูก เมีย แม่  ข้าแผ่นดิน ฯลฯ  ก็ตาม  นับตั้งแต่เกิดมาชีวิตนางถูกกำกับหรือ  “วางบทให้แสดงมาโดยตลอด  ยกเว้นตอนที่เลือกพลายแก้ว(ขุนช้าง)เป้นคู่เท่านั้น  นอกจากนั้นนางถูกกำหนดให้ดำเนินชีวิตตามความปรารถนาของผู้อื่น  แม้กระทั่งผู้เป็นลูกอย่างพระไวยก็ยังไม่เว้น  และด้วยความที่นางแทบไม่เคยเลือกหรือตัดสินใจเรื่องอะไรเอง  เมื่อถึงเวลาวิกฤติที่ต้องตัดสินใจเลือก  นางจึงมิอาจทำได้ทั้ง ๆ ที่เป็นคนมีสติปัญญาและมีเหตุมีผลเสมอมา
               นอกจากนางวันทองแทบจะไม่เคยมีโอกาสตัดสินใจเลือกอะไรได้เองแล้วการที่ต้องตกอยู่ในภาวะคับขันคือตื่นเต้น  ตระหนกและหวาดหวั่นเพราะอยู่เฉพาะพระพักตร์  รวมทั้งความขัดแย้งภายในใจของนางในขณะนั้นก็เป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่ง  ที่ทำให้นางวันทองยอมให้สมเด็จพระพันวษาเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจแทน  โดยได้แต่กราบทูลเป็นกลาง ๆ ว่า 
                        ความรักขุนแผนก็แสนรัก                  ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์
                   สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน                    สารพันอดออมถนอมใจ
                   ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา                      คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่
                   เงินทองกองไว้มิให้ใคร                                     ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว
                 จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก                           ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว
                   ทูลพลางตัวนางเริ่มระรัว                     ความกลัวพระอาญาเป็นพ้นไป

            คำกราบทูลของนางวันทอง  เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ  ทำให้สมเด็จพระพันวษา
กริ้วเป็นที่สุด
  ถึงกับมีพระบรมราชโองการให้ประหารนางเสียทั้งยังทรงปลอบชายผู้ก่อเหตุทั้งสามว่า

  .........................................                    อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา
                   กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นหัวหมื่น                 คนอื่นรู้ว่าแม่ขายหน้า
                   อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา               กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย

นี่คือบทบาทสุดท้ายของนางวันทองที่สมเด็จพระพันวษาทรงเป็นผู้กำหนด
            การศึกษาวิเคราะห์ตัวละครข้างต้นนี้กระทำโดยสังเขปเท่านั้น  ถ้าคิดให้ละเอียดลึกซึ้งก็จะเห็นว่าพฤติกรรมของตัวละครที่เกิดขึ้นเป็นไปตามภูมิหลังและเงื่อนไขส่วนตัวของแต่ละคน  ทั้งพระไวย  ขุนช้าง 
ขุนแผน  นางวันทอง และสมเด็จพระพันวษาต่างก็เป็นมนุษย์ที่กอปรไปด้วยเลือดเนื้อ  อารมณ์  และความรู้รู้สึกทุกคนต่างก็คิดว่าตนมีเหตุผลในการกระทำ  นอกจากเหตุผลของปัจเจกบุคคลแล้วค่านิยม  ความเชื่อของสังคมมีส่วนทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไรได้ด้วย  ซึ่งไม่ยุติธรรมนักสำหรับสิทธิความเสมอภาคของมนุษย์  นางวันทองในเรื่องนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงกาลกิณีอีแพศยา  เพราะมีสามีสองคนแต่ในขณะเดียวกันขุนแผนและพระไวยสามารถมีภรรยาหลายคนได้โดยสังคมไม่รังเกียจ  กลับนิยมยกย่องเพราะถือว่าเป็นเครื่องเสริมบารมีของบุรุษ  แต่ค่านิยมก็คือความนิยมว่าดีมีคุณค่าของคนส่วนใหญ่ในสังคมแต่ละสมัย  ซึ่งคนในสังคมนั้น ๆ ต้องยอมรับถ้าปรารถนาจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
            เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่สะท้อนความเป็นไทยไว้มากมายหลายด้านนักเรียนจะได้เห็น
วิถีชีวิตความเป็นอยู่
  ความคิด  ความเชื่อ   และค่านิยมของคนไทยในสมัยอยุธยาและต้น
รัตนโกสินทร์
  ในปัจจุบันบางอย่างก็เปลี่ยนไปบางอย่างก็ยังคงดำรงอยู่  ที่ ปฏิเสธมิได้คือความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้ออารมณ์และความรู้สึกของบรรดา ตัวละครทั้งหลายในเรื่องนี้ยังคงพบเห็นได้อยู่เสมอไม่แปรเปลี่ยน
            การที่ผู้อ่านผู้ฟังหรือผู้ชมการแสดงเรื่องขุนช้างขุนแผนมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวและตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง  เพราะกวีมีกลวิธีการนำเสนอ  และการใช้สำนวนโวหารที่มีชีวิตชีวาและมีสีสัน
จัดจ้าน  จะเห็นว่ากวีเน้นย้ำที่ความคิดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครตลอดเวลาที่เล่าเรื่อง  ให้ตัวละครย้อนคิดไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตอยู่เสมอเพื่อเป็นเหตุผลของการกระทำในปัจจุบัน  ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้อ่านไม่ลืมเรื่องแล้วยังช่วยให้เข้าใจตัวละครด้วย เช่น  การที่พระไวยจะไปพานางวันทองมาจากขุนช้างเพราะความแค้นจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต  หรือตอนที่นางวันทองไม่ยอมไปกับพระไวยเพราะคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่วุ่นวายระหว่างนาง   ขุนช้าง  และขุนแผน  จึงขอให้พระไวยไปกราบทูลพระพันวษาให้ทรงช่วยเหลือแทนที่จะกระทำไปโดยพลการ เป็นต้น
            การใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหารในเรื่องขุนช้างขุนแผน ง่าย งามและมีพลัง  นอกจากจะสรางภาพของตัวละครได้ชัดเจนแล้ว  ยังสามารถกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้อ่านให้คล้อยตามอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้ด้วย  ทำให้เกิดรสวรรณคดีที่หลากหลาย  เช่น  ตอนที่ขุนช้างฟื้นตื่นขึ้นมาไม่มีผ้าติดกายข้าไทที่เป็นหญิงในบ้านเห็นเข้าก็ตกใจ  


การวิจารณ์ร้อยกรอง "สื่อมวลชน"

สื่อมวลชน
เพราะคุณค่าของสื่อคือมวลชน                        ใช่บางคนใช้ไมค์เล่นก็เป็นได้
เรื่องเล่าข่าวสับสนไม่สนใจ                                              ความนิยมสร้างกำไร ให้ส่วนตัว
เพราะคุณค่าของสื่อคือสำนึก                            ได้ตรองตรึกผนึกอยู่รู้ดีชั่ว
ประโยชน์แห่งสาธารณะละความกลัว                           ให้กระจ่าง สว่างทั่ว ในมัวมน
เพราะคุณค่าของสื่ออยู่ที่สื่อ                              จะมอมเมาหรือไล่รื้อความสับสน
จะจุดไฟใส่เชื้อเพื่อมวลชน                                               หรือซุกตนเลือกข้างอย่างที่เป็น
เพราะคุณค่าของสื่อคือธรรมะ                          ช่วยชำระบ้านเมืองที่เคืองเข็ญ
สื่ออย่างไรให้ร้อนคลายได้ร่มเย็น                                   จึงสมเป็นเช่นชื่อ "สื่อมวลชน"

เวย์ รู้ทัน
Way Rutan ( ช่างซ่อมประตู เวย์ รู้ทัน ). (2556). สื่อมวลชน.
https://www.facebook.com/Wayrutanpoem?fref=ts
   โวหาร : เรื่อง "สื่อมวลชน" พบว่ามีการใช้ภาษาที่งดงามและมีกลวิธีการใช้ภาษาในการเปรียบเทียบ เพื่อให้เกิดความหมายหรือแนวคิดที่หลากหลาย กลวิธีในการแต่งมีสุนทรียภาพทางด้านการใช้คำหลาก มีคำศัพท์หลากหลายและสละสลวย โวหารการเขียนใช้พรรณนาโวหาร      สอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจและความซาบซึ้ง มีความรู้สึกและเห็นภาพตามไปด้วยกับคำพรรณนาโวหาร       และใช้โวหารอุปลักษณ์ในการเปรียบเทียบ ไม่กล่าวโดยตรงเหมือนอุปมา แต่ใช้วิธีกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอาเอง   ที่สำคัญอุปลักษณ์จะไม่มีคำเชื่อมเหมือนอุปมา


‘ฟ้าบ่กั้น’ เรื่องสั้นสะท้อนสังคม บทวิจารณ์โดย นางสาววิมลมาศ พรมกุล

ฟ้าบ่กั้นเรื่องสั้นสะท้อนสังคม
บทวิจารณ์โดย นางสาววิมลมาศ  พรมกุล


บทคัดย่อ
ลาว คำหอม เคยกล่าวอย่างเจียมตนเกี่ยวกับหนังสือรวมเรื่องสั้น “ฟ้าบ่กั้น” ของเขาไว้ใน คำนำผู้เขียนฉบับภาษาสวีเดนว่า ถ้าจะได้มีการพยายามจะจัดเข้าในหมวดหมู่วรรณกรรม หนังสือเล็กๆ เล่มนี้ก็คงจะมีฐานะเป็นได้เพียง วรรณกรรมแห่งฤดูกาลฤดูแห่งความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานมากของประเทศไทยดูเหมือนว่าฤดูกาลที่ลาว คำหอม พูดไว้น่าจะยาวนานมากเป็นพิเศษ เพราะจวบจนถึงวันนี้แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาครบห้าสิบเอ็ดปีนับแต่หนังสือเล่มนี้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2501 แต่เรื่องราวใน “ฟ้าบ่กั้น” ยังแลดูเสมือนว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้
ฟ้าบ่กั้นหนังสือเล็กๆ เล่มนี้ก็คงจะมีฐานะเป็นได้เพียง วรรณกรรมแห่งฤดูกาลฤดูแห่งความยากไร้และคับแค้น ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานมากของประเทศไทย ลาว คำหอม เคยบอกเอาไว้อย่างนั้น และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
เนื้อเรื่องย่อฟ้าบ่กั้น
ฟ้าบ่กั้นเป็นหนังสือที่รวมเรื่องสั้นของ ลาว คำหอม ประกอบไปด้วย ๑๗ เรื่องสั้น คือ คนพันธุ์, นักการเมือง, เขียดขาคำ, คนหมู, หมอเถื่อน, ชาวไร่เบี้ย, ชาวนาและนายห้าง, ไพร่ฟ้า, กระดาษไฟ, ฟ้าโปรด, สวรรยา, อุบัติโหด, แขมคำ, ป้าย, ยมทูต, เป-โต, และอีกนานเธอจะรู้
เรื่องที่มีลักษณะของเรื่องสั้นที่ดีมากเรื่องหนึ่งของเขาคือ "เขียดขาคำ" คือ ดีทั้งโครงเรื่อง, สำนวน, เนื้อหา ถึงแม้จะเป็นการเย้ยหยันธรรมชาติ เย้ยหยันรัฐบาล อย่างขมขื่น โดยไม่ได้เสนอทางออกหรือความหวังอะไร แต่ก็ได้ให้ภาพพจน์ที่สะเทือนใจ พอที่เราคิดกันต่อไปได้ว่าสภาพเช่นนี้เป็นสภาพที่น่าสังเวช ควรเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไม่ต้องสงสัย
เรื่องสั้นส่วนใหญ่ของ "ลาว คำหอม" แม้จะพูดถึงคนยากจนอย่างเห็นใจ แต่ก็ไม่ได้เขียน โดยใช้ท่วงทำนองแบบวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่มุ่งชี้ทางออก หากมีลักษณะเป็นการเย้ยหยันธรรมชาติ เย้ยหยันวัฒนธรรมที่ล้าหลัง และเย้ยหยันชนชั้นปกครองเสียมากกว่าเช่น เรื่อง "คนพันธุ์" ซึ่งเย้ยหยันการเห่อฝรั่ง "คนหมู" เย้ยหยันนักพัฒนาจากเมือง "นักการเมือง" เย้ยหยันผู้แทน เป็นต้น
มีบางเรื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นการกดขี่ของนายทุน เช่น "ชาวไร่เบี้ย" แต่ก็ไม่ได้เสนอหรือแนะทางออก เรื่อง "ไพร่ฟ้า" จะมีแนวคิดก้าวหน้ามากกว่าเพื่อน ตรงที่ผู้ถูกกดขี่ได้ต่อสู้กับคนชั้นสูง แย่งคู่รักของเขาไปอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ แม้ว่าจะจบค่อนข้างเศร้า ตรงที่ผู้ถูกกดขี่ต้องพลอยเสียชีวิตไปด้วย
บางเรื่องจะคล้ายกับเป็นเรื่องอ่านสนุกๆ เช่น "หมอเถื่อน" แต่ก็ชี้ให้เห็นสภาพทุกข์ยากของประชาชนในชนบท ได้มากกว่านักเขียนเรื่องชนบทบางคน
วรรณกรรมเรื่อง ฟ้าบ่กัน ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมที่ได้สะท้อนวิถีชีวิตของสังคมชนบทจากที่ ลาว คำหอม ได้ไปสัมผัสมาด้วยตนเอง แล้วกลั่นกรองเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของเขา นำมาถ่ายทอดถึงความทุกข์ยากของสังคมชนบทไทยผ่านงานเขียนที่มีการสร้างฉาก ตัวละคร สถานที่ เวลา ที่แตกต่าง ที่อิงกับเหตุการณ์ความเป็นจริงของสังคมชนบท
 เรื่องราวต่างๆ ที่ถูกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ได้เกิดขึ้นต่างวาระแห่งฤดูกาลกัน แต่อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระและภาพที่สะท้อนออกมาในแต่ละเรื่องล้วนเป็นการแสดงถึงความทุกข์ยากของสังคมชนบท ที่มีทั้งความรัก ความเศร้าโศก พลัดพราก โกรธแค้น ดีใจ เสียใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรสความงามของวรรณกรรม
ฟ้าบ่กั้นเป็นมากกว่าเรื่องสั้น
"ความหมายของหนังสือเล่มนี้ทำให้นึกต่อไปว่ามันบอกอะไรหลาย ๆ อย่าง ทำให้รู้สึกเข้าใจคนยากคนจนในภาคอีสาน ทำให้รู้สึกเห็นใจ คนในยุคสมัยนั้นก็น่า จะอ่านด้วยความรู้สึกแบบนั้น รู้สึกว่ามันเป็นคำร้องทุกข์ของคนยากจนในภาคอีสาน ฟ้าบ่กั้นไม่ได้บอกแค่ทำให้รู้สึกเห็นใจ แต่ทำให้เกิด ความคิดความรู้สึก วัฒนธรรมของตัวละครในเรื่อง ซึ่งกำลังต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจที่มาจากส่วนกลาง และทำให้คิดว่า นี่แหละคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้มีลักษณะพิเศษในสายตาหลายคน คือมันไม่ได้มีไว้ให้เราอ่านอย่างเดียว แต่มันกำลังอ่านสังคม และกำลังอ่านคนที่อ่านมันด้วย (ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์, 2555:21)
ฟ้าบ่กั้น วิจารณ์แนวสังคม
ใน ฟ้าบ่กั้นเสียดสีระบบราชการและนโยบายภาครัฐที่บอกว่า "มีลูกมากจะยากจน" เรื่อง  "เขียดขาคำ" เมื่อชาวนากลุ่มหนึ่งไปขอรับเงินสงเคราะห์ผู้มีลูกมากจากทางการ  พวกชาวนาได้กลายเป็นตัวตลกของพวก "เจ้านาย" เพราะต้องถูกเสียดสีจากการตอบคำถามว่าทำไมจึงมีลูกมาก แต่คำตอบที่ว่า "มันจน มันจน ไม่มีเงินจะไปซื้อผ้าห่ม ถึงจะเหม็นสาบเหม็นคาวทั้งปีทั้งชาติ ก็ได้ใช้เมียนั้นแล้วต่างผ้าห่ม ลูกมันก็หลั่งไหลมา"
มันเสียดสีและประชดรัฐบาลขณะนั้นได้ยอดมาก ความจนนั้นแหละสาเหตุใหญ่ ไม่ใช่พวกเขาโง่หรือไม่มีความคิด
 แต่การไปโรงเรียนก็ทำให้คนแปลกแยกจากสังคมเดิม จากบ้านเกิด ซึ่งสะท้อนอย่างเจ็บแสบในเรื่อง "ชาวนาและนายห้าง" เรื่องราวที่ชานกรุงเทพฯ ที่ลุงคงกับภรรยาเป็นผู้เช่านา เมื่ออายุมากเข้าไม่สามารถทำนาได้ก็กลายเป็นคนเฝ้านาให้เจ้าของหรือนายทุน
สองตายายเฝ้านามีหมาหลายตัว ที่น่ารักและฉลาดกว่าเพื่อนชื่อ "สำริด"  วันหนึ่งมีนายห้างพาฝรั่งไปเที่ยวยิงนกแถวนั้นเกิดชอบเจ้าสำริด ไปมาหลายครั้งจนสนิทสนม อยู่มาวันหนึ่งเจ้าสำริดป่วย นายห้างกับฝรั่งก็พามันไปหาหมอในเมือง จากนั้นก็ยังไม่ส่งกลับ แต่กลับส่งเข้าโรงเรียนหมา
ลาว คำหอม ประชดประชันอย่างแสบๆ  เมื่อชายชราถามนายห้างว่า ส่งหมาของแกไปโรงเรียนเพื่อสอนให้มันเป็นอะไร  "สอนให้เป็นคนฉลาด" นายห้างตอบ "เขาสอนให้มันรู้หน้าที่ รู้จักเฝ้าบ้าน ช่วยเจ้าของถือตะกร้า จับขโมย เป็นอนามัย ไม่ทำสกปรก"
ชายชราพึมพำกับภรรยาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การไปโรงเรียนหมา "ทำให้หมาในกรุงมันทำอะไรได้สารพัด ราคาค่างวดก็ตกถึงเก้าชั่งสิบชั่ง แพงกว่าควายโตๆ ในท้องนาเสียอีก"
แต่การไปอยู่เมืองกรุง การไปโรงเรียนหมาทำให้เจ้าสำริดลืมบ้านเก่า เมื่อนายห้างเอามันมาส่ง มันไม่ยอมขึ้นจากเรือ  "ลืมรสน้ำข้าวแล้วสิ ท่าทาง..." ยายหลุดปากออกมา
ที่ร้ายไปกว่านั้น เจ้าสำริดไม่เคยกัดไก่ก็ไล่กัด ยายทนไม่ไหว คว้าไม้พายหวดลงกลางหลัง "หนอย เขาขุนสองสามมื้อโอ่จะเป็นนายห้าง เดี๋ยวแม่ซัดกะไม้พายหลังหัก"
"ตั้งแต่กลับจากกรุง เจ้าสำริดไม่ยอมกินข้าว ท่าทางจองหองเกะกะกับเพื่อน ไม่ไหวเลย"
"ก็เห็นบอกว่าส่งไปฝึกอบรมเข้าโรงร่ำโรงเรียน"
"นั่นน่ะซี ไม่รู้มันเสี้ยมสอนกันยังไง ทำให้ไอ้สำริดของฉันเสียหมาหมด" "มันจำเจ้าของไม่ได้"
และสุดท้ายมันก็แว้งกัดลุงคง ที่เลี้ยงมันมาตั้งแต่เล็กจนโต  เหมือนกับที่เขา "โดนกัด" จากนายทุนเจ้าของนาที่ขายที่ให้โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้สองตายายต้องย้ายออกไป โดยไม่มีใครบอกได้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน อ่านเรื่องเจ้าสำริดไปโรงเรียนจน "เสียหมา" แล้วคิดถึงการศึกษาไทย
เรื่องราวต่างๆ ในฟ้าบ่กั้นถูกร้อยเรียงขึ้นมาจากมโนสำนึกของความเป็นจริงที่วันนี้ไม่ได้ต่างจากวานนี้เท่าไรนัก เขาเขียนไว้แบบประชดประชันไม่เว้นแม้ในคำนำฉบับภาษาเดนิชว่า


"ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป ภาพเงารางๆ ของโครงร่างอันมีลักษณะเหมือนคนแขนขาลีบ หัวโตแถมสวมมงกุฎประดับเพชร ก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับ นับวันก็ยิ่งแจ่มชัดจนเกินกว่าใครผู้ใดจะค้นคิดสรรหาคำสวดบทกวีสรรเสริญ หรือพิธีกรรมโอ่อ่าขรึมขลังมากลบให้มิดชิด ภาพเช่นนั้นย่อมกระทบมโนธรรม ก่อให้เกิดปฏิกิริยาและวิพากษ์ตามมา และมีไม่น้อยที่เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเกลียด บาป และไม่เป็นธรรม" 

ฟ้าบ่กั้น กับอัตลักษณ์ถิ่นอีสาน และวาทกรรมการพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่
ลาว คำหอม อยากบอกด้วยว่า ความโง่ความฉลาดของคนไม่จำเป็นต้องมาจากการไปเรียนหนังสือสูงๆ เท่านั้น แต่มาจากการเรียนรู้ชีวิต จากประสบการณ์ เหมือนพ่อถ่ายทอดการทำมาหากินให้ลูก บางครั้งก็เป็นบทเรียนราคาแพงอย่างใน "เขียดขาคำ" ที่พ่อพาลูกไปหาเขียดหน้าหนาวตามทุ่งนา ลูกถูกงูเห่ากัด
            ใน ฟ้าบ่กั้น การพัฒนาให้เป็นสมัยใหม่ที่รัฐหยิบยื่นให้ชาวบ้าน จะอิงวาทกรรมเรื่องความเจริญก้าวหน้ากว่า ความทันสมัยกว่า และความมีประสิทธิภาพสูงกว่า เช่น การเอาพ่อพันธุ์สัตว์เลี้ยงมาให้ชาวบ้าน ในเรื่อง คนพันธุ์ตามที่พ่อเฒ่าเล่าให้เมียฟังถึงคำอวดอ้างสรรพคุณของพ่อพันธุ์วัวจากอเมริกา ที่เขาได้ยินมาจากหลวง ว่า รัฐบาลเห็นว่าวัวของเรามันไม่ทันสมัย ใช้ไม่ได้ โตช้า ตัวเล็ก ไม่ทันกินทันใช้” (หน้า 70) จะพบว่าพ่อเฒ่า แม่เฒ่า ตื่นตาตื่นใจกันสรรพคุณของพ่อพันธุ์สัตว์ต่างๆที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ แต่พวกเขาตีคุณค่าสรรพคุณคนละอย่าง เห็นจากความกังวลใจของแม่เฒ่าเมื่อนึกภาพความโกลาหลวุ่นวาย และความน่าอุจาดตาของแม่ไก่ตัวเท่าอีแร้งกระโดกกระเดกอยู่แทนที่ (หน้า 68) สำหรับเธอแล้ว ขนาดที่ใหญ่กว่าหรือโตเร็วกว่า คือ ความมากมายเกินที่จะพึงประสงค์
ในทำนองเดียวกัน เราพบว่าในเรื่อง คนหมูหมออาสาสมัครยึดหลักโภชนาการเป็นบรรทัดฐานของคุณภาพชีวิตของผู้ที่เจริญแล้ว ขณะที่โพธิ์ให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อให้ท้องอิ่ม จริงอยู่ว่าท้ายที่สุดโพธิ์ต้องจำใจยอมกินรำต่างข้าว แต่อย่างน้อยเราเห็นว่าโพธิ์สำนึกอยู่ตลอดว่า เขาได้สูญเสียความเป็นคนของตนไป ผิดกับหมออาสาสมัครที่ไม่รู้สึกรู้สมแต่อย่างใด แม้ว่าโพธิ์จะทักท้วงคำแนะนำของเธอแล้วก็ตาม
ควบคู่ไปกับวาทกรรม ความเป็นผู้เชี่ยวชาญ และ ความมีประสิทธิภาพรัฐและคนเมืองยังได้สร้างอัตลักษณ์คนชนบทอีสานว่า โง่เง่าเต่าตุ่นเพื่อกันคนจนออกไปจากกระบวนการตัดสินใจใดๆเกี่ยวกับการพัฒนา ตัวละครที่เป็นตัวแทนของรัฐและคนเมืองใน ฟ้าบ่กั้น จึงมองเห็นชาวบ้านเป็นตัวตลก ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่ประสีประสา ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามของตัวละครชาวบ้านที่จะตอบโต้และโต้กลับ เป็นต้นว่า ในเรื่องสั้น เขียดขาคำเมื่อนาคและเพื่อนชาวนาไปขอรับเงินสงเคราะห์ผู้มีลูกมากจากทางการ พวกชาวบ้านได้กลายเป็นตัวตลกที่ เรียกเสียงหัวร่ออย่างชอบใจจากหมู่เจ้านาย(หน้า 44-45) เพราะต้องงกๆ เงิ่นๆ ตอบคำถามว่าทำไมจึงมีลูกมาก แต่นาคได้สร้างความประหลาดใจแก่ทุกคนบนที่ทำการอำเภอ เมื่อเขาตอบว่า มันจน มันจน ไม่มีเงินจะไปซื้อผ้าห่ม ถึงจะเหม็นสาบเหม็นคาวทั้งปีทั้งชาติ ก็ได้ใช้เมียนั้นแล้วต่างผ้าห่ม ลูกมันก็หลั่งไหลมา (หน้า 45) ผลจากคำพูดที่เหนือความคาดหมายของนาคก็คือ แทนเสียงหัวเราะ ทุกคนเงียบงันไปครู่หนึ่ง” (หน้า 45)
คำพูดของนาคทำให้ทุกคนเงียบและอึ้งไปได้ชั่วขณะหนึ่ง ทั้งนี้มิใช่เฉพาะนาคกลับตาลปัตรคำอธิบายของทางการที่ว่า มีลูกมากจะยากมากกลายเป็นว่า ยากจนจึงมีลูกมากคำพูดแรกของนาค มันจน มันจนอาจจะชวนให้คิดไปเช่นนั้น แต่เมื่อเขาขยายความ เราจึงพบว่าคำตอบของนาคนั้นใช้ชุดคำอธิบายที่ไม่อยู่ในสารบทความคิดใดๆ ที่พวกข้าราชการคุ้นเคย นาคไม่ได้พูดในสิ่งที่รัฐคาดหวังว่า ชาวนาผู้โง่เง่าเต่าตุ่นจะพูดกัน ในขณะเดียวกันเขามิได้ลอกเลียนหรือจดจำคำพูดของทางการ มาตอบเพื่ออวดฉลาดในกรอบที่คนเมืองเป็นคนขีดไว้ ทั้งยังมิใช่คำพูดที่จะลุกขึ้นมาประจานความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาลูกมากแต่อย่างใด ความเงียบในหมู่ข้าราชการหลังจากได้ยินคำพูดของนาค ในแง่หนึ่งแล้วเป็นความเงียบอันเกิดจากความอับจนที่จะโต้ตอบหรือรับมือกับคำพูดของนาค คำพูดของปลัดอำเภอที่จะทำให้คำตอบของนาคกลายเป็นเรื่องตลก เมื่อเขาพูดอย่าง ปร่าๆว่า บ๊ะ อ้ายหมอนี้เอาเมียทำผ้าห่ม” (หน้า 45) ไม่เพียงแต่จะเป็นความพยายามอันน่าสมเพชเวทนาเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นเหมือนศรที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงปลัดอำเภอ เพราะกลายเป็นว่าเขาต้องมารับบทเป็นตัวตลกเสียอีก
เราจะเห็นว่าในการตอบโต้อัตลักษณ์คนอีสานโง่เง่างมงาย นาคไม่ได้ใช้วิธีที่จะพิสูจน์ว่าตนเองฉลาดเท่าทันคนเมืองเพราะถ้าเช่นนั้นก็เท่ากับนาคยอมรับเอานิยามของความฉลาดที่คนเมืองสร้างเป็นตัวตั้ง และยอมรับว่าระบบคุณค่าของคนเมืองเหนือกว่า เจริญกว่า และดีกว่าระบบคุณค่าของตัวเขา สิ่งที่นาคทำคือการเสนอชุดคำอธิบายของตัวเองขึ้นมาแข่ง ส่งผลให้ปลัดอำเภอไม่สามารถจะโต้ตอบนาคได้
นอกเหนือจากการนำเสนอระบบคุณค่าของตนเองเพื่อตอบโต้กับวาทกรรม โง่เง่า งมงายที่รัฐสร้างขึ้นแล้ว การช่วงชิงการนิยามเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ตัวละครใน ฟ้าบ่กั้น ใช้เพื่อรับมือกับวาทกรรมของคนเมือง ในเรื่อง นักกานเมืองเราจะเห็นว่าเขินอดีตสมภารวัดที่สมัครเป็นผู้แทนประชาชนแข่งขันกับบรรดาผู้มียศถาบรรดาศักดิ์จากกรุงเทพฯ ลุกขึ้นมานิยามผู้สมัครจากกรุงเทพฯใหม่ดังนี้
ข้าเคยไปบางกอก... ข้าจะบอกให้นะ ขุนคือคนพวกหนึ่งที่คอยเอาข้าวเอาน้ำให้เป็ด ไก่ ช้าง ม้า ข้ารู้เพราะข้าเคยไปบางกอก คมบางกอกเขาเรียกการให้ข้าวน้ำเก่สัตว์ของเขาว่าขุน ส่วนหลวงนั้นคือคนไม่มีทำเลเป็นหลักแหล่งแห่งที่ อย่างม้าหลวงที่บ้านเราเป็นม้าไม่มีเจ้าของ ใครจับไปขี่เสร็จแล้วปล่อยไป กินข้าวกินกล้าชาวบ้านจะเอาโทษกับใครไม่ได้ ส่วนคุณพระข้ายังสงสัย พระอะไรไม่รู้จักบวช บางทีจะเป็นพระทุศีล ... โน้นคนที่ชอบของเล่นนั่นเป็นนายพล ดูชิเอากาบหอยกาบปูมาห้อยอกไว้รุงรัง คนอย่างนี้เราเรียกว่าแก่ไม่รู้จักโต ชอบของเล่นเหมือนเด็ก ส่วนคนที่หลบไปเห็นหลังไวๆ นั้นเป็นหมอความ คือคนชอบหาความ ถ้าไม่มีเงินให้มันเอาเข้าคุก” (หน้า 11)
ในคำปราศรัยที่ยกมานี้ เขินใช้วิธีอ้างประสบการณ์ตรงที่เคยไปกรุงเทพฯ เพื่อยืนยันความจริงของสิ่งที่เขาพูด ส่วนการชิงนิยามคมเมืองเหล่านี้ใหม่นั้น เขินใช้การเล่นคำเพื่อทำให้สิ่งที่ถูกยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นสามานย์ ยศถาบรรดาศักดิ์ที่เป็นเครื่องแสดงความสูงส่งและน่าเกรงขามถูกพลิกกลับตาลปัตรให้เป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระน่าชวนหัวทั้งสิ้น

บทสรุป : ฟ้าบ่อาจกั้น....ฟ้าบ่กั้น  ได้
           เรื่องราวเหล่านี้จึงไม่ใช่เพียง "ความคิด" หรือจินตนาการ หากแต่เป็น "มโนธรรม" อันเกี่ยวข้องกับความถูกผิด ซึ่งวันนี้ถูกแทนด้วยคำว่า "จิตสำนึก" จะคำไหนก็ไม่ว่า ฟ้าบ่กั้น อยากกระตุ้นให้คนได้คิดแตกต่างไปจากเดิม คิดอย่างคนที่ "เจริญ" แล้ว ที่เคารพในศักดิ์ศรี และสิทธิของคน ดังนั้น ฟ้าบ่กั้น  คงเป็นตัวแทนของผู้คนในสังคมชนไทย ที่จะเป็นพื้นที่แสดงเรื่องต่างๆของสังคมชนบทไทยได้เป็นอย่างที่คงจะเป็นเหมือนชื่อเรื่องของหนังสือวรรณกรรมเล่มนี้ที่ไม่สามารถปิดกั้นความทุกข์ของสังคมชนบทไว้ได้ มันกลับถูกถ่ายทอดออกมาแล้วโดยผ่านงานเขียนของนักเขียนคุณภาพ อย่างลาว  คำหอม ผู้เป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมชนบทได้เป็นอย่างดี (ธวัชชัย สุนทรสวัสดิ์, 2554. )
 ฟ้าบ่กั้น เป็นงานเขียนที่ตกผลึกทางความคิด ประสบการณ์ตรงของลาวคำหอม จนสมารถนำมาผลิตเป็นงานเขียนได้ งานเขียนลักษณะเช่นนี้ ปัญญาชนในทศวรรษ 2500 อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกว่า  ศิลปะเพื่อชีวิต  ศิลปะเพื่อประชาชน
          ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านหลายทศวรรษแล้วก็ตาม ฟ้าบ่กั้น ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อนักอ่านงานวรรณกรรม และผู้สนใจทั่วไปให้สัมผัสถึงรสความงดงามภาษาของวรรณกรรมเล่มนี้  ฟ้าบ่กั้นจะยังอยู่ในสำนึกของสังคมไทยและพร้อมที่จะเปิดเผยความทุกข์ให้สังคมได้รับทราบอีกต่อไป เมื่อคุณหยิบมันขึ้นมาอ่าน....ฟ้าบ่กั้น