บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การวิเคราะห์วรรณคดีไทย เรื่อง...ขุนช้าง ขุนแผน

การวิเคราะห์วรรณคดีไทย
เรื่อง...ขุนช้าง ขุนแผน

 จุดจบ...ของนางวันทอง 
            นางวันทองเป็นตัวละครตัวเอกในบทเสภาขุนช้างขุนแผน  วรรณคดีเรื่องสำคัญของไทย  ซึ่งกลายเป็นเรื่องราวเล่าขานสืบต่อมาว่า  นางวันทองสองใจ  และดูเหมือนจะเป็นสำนวนคำพังเพยที่เปรียบเทียบผู้หญิงที่มีสามี ๒ คน หรือหลายคนหรือหญิงที่มีจิตใจไม่มั่นคงต่อสามีตนเอง  มีชู้หรือไม่ซื่อตรงต่อคู่ของตนว่ามีพฤติกรรมเหมือนนางวันทอง
นางวันทองมีชื่อเดิมคือ นางพิมพิลาไลย เป็นลูกสาวของพันศรโยธากับนางศรีประจันมีสามี  คนแรกคือ พลายแก้วซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระพันวษาให้เป็นขุนแผนหลังจากเสด็จศึกกับเชียงใหม่  ชีวิตของนางผูกพันจนต้องมีสามีอีกคนคือขุนช้าง  ชีวิตของตัวละครทั้ง ๓ พัวพันกันอย่างชนิดแยกกันไม่ออกและเมื่อถึงตอนที่กวีได้แต่งไว้น่าสนใจมาก ตลอดจนเป็นช่วงตอนที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้ศึกษา  คือ  ตอนขุนช้างถวายฎีกาเป็นตอนที่ไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้แต่ง แต่ในตอนนี้ทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอย่างหลากหลายทั้งเศร้า  เสียใจ  สงสาร  เสียดาย  สังเวช  หรือสะใจ เพราะนางวันทองถูกเจ้าชีวิต คือสมเด็จพระพันวษาทรงตัดสินให้ประหารชีวิต  เป็นจุดสุดยอด (climax) ของเรื่องแสดงถึงความสามารถของกวีที่เข้าถึงภาวะอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นโดยไม่เลือกว่าผู้นั้นจะอยู่ในวัยใด  เพศใดหรือสถานภาพในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอน  ขุนช้างถวายฎีกา  เป็นตอนที่โดดเด่นยิ่งตอนหนึ่ง  เพราะนางวันทองซึ่งเป็นตัวละครตัวเอกของเรื่องต้องตกเป็นจำเลยของสังคมในยุคที่ผู้ชายคือช้างเท้าหน้า
            ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าบทบาทและพฤติกรรมของตัวละครชายในตอนนี้คือสมเด็จพระพันวษา 
ขุนช้าง  ขุนแผน  และพระไวยได้แสดงให้เห็นว่าสถานภาพของผู้ชายในสังคมไทยเหนือกว่าผู้หญิงอย่างชัดเจนยิ่ง นางวันทองเป็นตัวอย่างของผู้หญิงในสังคมไทยในยุคนั้น  นางถูกกำหนดบทบาทและพฤติกรรมจากบรรดาบุรุษเพศ ทั้งขุนช้าง  ขุนแผน  และพระไวยต่างก็ปรารถนาที่จะตักตวงความสุขจากนางวันทองโดยไม่เคยคำนึงว่านางจะรู้สึกอย่างไร  พฤติกรรมของทั้งสามมักเกิดจากการใช้อารมณ์เหนือเหตุผล  เริ่มตั้งแต่พระไวยซึ่งมียศถาบรรดาศักดิ์  มีภรรยางามสองคนและมีบิดาอยู่ด้วยแล้ว  แต่ยังรู้สึกว่าชีวิตของตนไม่สมบูรณ์เพราะ  พร้อมญาติขาดอยู่แต่มารดา  จะเห็นว่าตั้งแต่เด็กพระไวยไม่เคยอยู่ร่วมพร้อมกันทั้งพ่อแม่ลูกเหมือนดังครอบครัวอื่น  จึงต้องการจะเติมส่วนขาดเพื่อให้ชีวิตของตนสมบูรณ์ทำให้ตัดสินใจไปพานางวันทองมาจากบ้านขุนช้าง  ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะต้องเกิดเรื่องและทั้ง ๆ ที่นางไม่เต็มใจ  แต่ที่ต้องไปด้วยเพราะพระไวยขู่นางว่า

                        แม้นมิไปให้งามก็ตามใจ                  จะบาปกรรมอย่างไรก็ตามที
                   จะตัดเอาศีรษะของแม่ไป                 ทิ้งแต่ตัวไว้ให้อยู่นี
               ครั้นเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นจริง ๆ พระไวยก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้  ส่วนขุนช้างนั้นเมื่อทราบว่านางวันทองถูกพาตัวไปก็โกรธแค้นนัก  แทนที่จะคิดว่าเป็นความผิดของผู้ที่มาพานางไป  กลับประณามนางโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า
                                                        สองหนสามหนก่นแต่หนี                พลั้งทีลงไม่รอดนางยอดหญิง
                          คราวนั้นอ้ายขุนแผนมันแง้นชิง                      นี่คราวนี้หนีวิ่งไปตามใคร
                          ไม่คิดว่าจะเป็นเห็นว่าแก่                             ยังสาระหลบลี้หนีไปไหน
                                 เอาเถิดเป็นไรก็เป็นไป                               ไม่เอากลับมาได้มิใช่กู

            และขุนช้างก็ทำตามที่คิดด้วยการถวายฎีกาเพื่อให้สมเด็จพระพันวษาตัดสินให้นางกลับมาอยู่กับตนโดยไม่คิดถึงใจนางเลย
             ฝ่ายขุนแผนซึ่งมีทั้งนางลาวทองและนางแก้วกิริยาเคียงข้างอยู่แล้ว  เมื่อทราบว่าพระไวยพานางวันทองมาก็เข้าไปหานางด้วยความเสน่หา  หวังจะได้ร่วมรักโดยไม่ได้คิดถึงอารมณ์และความรู้สึกของนางเช่นกัน  แต่นางก็ไม่สมยอมเมื่อเกิดเหตุขึ้นภายหลัง  ขุนแผนก็มิอาจช่วยนางได้  ทั้งขุนช้าง  ขุนแผนและ
พระไวยเมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพันวษา  ความเป็นตัวของตัวเองก็สิ้นไป  ทั้งนี้เพราะความเกรงพระราชอาญาและค่านิยมแห่งความจงรักภักดีที่ข้าทหารพึงมีต่อพระเจ้าแผ่นดิน  ดังนั้นเมื่อพระพันวษาโปรดให้นางวันทองตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับใคร  ทั้งสามคนก็มิกล้าเปิดปากกราบบังคมทูลช่วยนางแต่อย่างใด  ในที่สุดผลร้ายก็ตกอยู่ที่นางวันทองเพียงคนเดียว

               สมเด็จพระพันวษาเป็นตัวละครที่มีบุคลิกภาพเด่นอย่างยิ่งในตอนนี้แสดงให้เห็นถึงพระอุปนิสัยที่มีอารมณ์ร้อน  แต่ก็มีพระทัยอ่อนและเปี่ยยมไปด้วยพระเมตตาต่อข้าแผ่นดิน  เพราะพระปรานีเหมือน
ลูกในอุทร  ด้วยพระราชอำนาจโดยสมบูรณ์  พระราชวินิจฉัยในเรื่องใดจึงถือได้ว่าเป็นที่สุดเสมอ  ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็อยู่ที่พระองค์เท่านั้น  อย่าง ไรก็ตามสมเด็จพระพันวษาเป็นตัวละครที่น่าเห็นใจที่ต้องทรงรับรู้เกี่ยวกับ ความวุ่นวายของครอบครัวขุนช้างขุนแผนมาโดยตลอดไม่รู้จักสิ้นสุด  ทั้ง ๆ ที่มีพระราชภารกิจและพราะราชกรณียกิจในการปกครองประเทศ นอกจากต้องทรงแก้ปัญหาระดับชาติแล้ว  ยังต้องทรงลงมาแก้ปัญหาระดับครอบครัวของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอีกด้วย  ทรงเปรียบเสมือนพ่อหรือผู้ใหญ่ในครอบครัว  เวลาสมาชิกในครอบครัวมีเรื่องเดือดร้อนมาฟ้องร้องก็ต้องทรงรับเป็นพระราชธุระ ไต่สวนให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกคน  ในตอนนี้ก็เช่นกันได้พระราชทานโอกาสแก่นางวันทองซึ่งเป็นคนกลางและเป้นต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งปวงตัดสินใจ  แต่นางก็ไม่อาจตัดสินใจได้  ทำให้สมเด็จพระพันวษากริ้วเพราะเข้าพระทัยว่านางเป็นหญิงมักมากในกามคุณ  ถ้าอ่านแต่เพียงผิวเผินอาจเห็นว่าทรงใช้แต่พระอารมณ์  แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้ง
แล้วตัวนางวันทองเองรวมทั้งเงื่อนไขทางค่านิยมของสังคมมีส่วนผลักดันให้สมเด็จพระพันวษาทรงตัดสินประหารชีวิตนาง
            นางวันทองซึ่งมีบทบาทเด่นที่สุดในตอน  ขุนช้างถวายฎีกา ได้สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพของผู้หญิงในยุคนั้น  ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพลูก เมีย แม่  ข้าแผ่นดิน ฯลฯ  ก็ตาม  นับตั้งแต่เกิดมาชีวิตนางถูกกำกับหรือ  “วางบทให้แสดงมาโดยตลอด  ยกเว้นตอนที่เลือกพลายแก้ว(ขุนช้าง)เป้นคู่เท่านั้น  นอกจากนั้นนางถูกกำหนดให้ดำเนินชีวิตตามความปรารถนาของผู้อื่น  แม้กระทั่งผู้เป็นลูกอย่างพระไวยก็ยังไม่เว้น  และด้วยความที่นางแทบไม่เคยเลือกหรือตัดสินใจเรื่องอะไรเอง  เมื่อถึงเวลาวิกฤติที่ต้องตัดสินใจเลือก  นางจึงมิอาจทำได้ทั้ง ๆ ที่เป็นคนมีสติปัญญาและมีเหตุมีผลเสมอมา
               นอกจากนางวันทองแทบจะไม่เคยมีโอกาสตัดสินใจเลือกอะไรได้เองแล้วการที่ต้องตกอยู่ในภาวะคับขันคือตื่นเต้น  ตระหนกและหวาดหวั่นเพราะอยู่เฉพาะพระพักตร์  รวมทั้งความขัดแย้งภายในใจของนางในขณะนั้นก็เป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่ง  ที่ทำให้นางวันทองยอมให้สมเด็จพระพันวษาเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจแทน  โดยได้แต่กราบทูลเป็นกลาง ๆ ว่า 
                        ความรักขุนแผนก็แสนรัก                  ด้วยร่วมยากมานักไม่เดียดฉันท์
                   สู้ลำบากบุกป่ามาด้วยกัน                    สารพันอดออมถนอมใจ
                   ขุนช้างแต่อยู่ด้วยกันมา                      คำหนักหาได้ว่าให้เคืองไม่
                   เงินทองกองไว้มิให้ใคร                                     ข้าไทใช้สอยเหมือนของตัว
                 จมื่นไวยเล่าก็เลือดที่ในอก                           ก็หยิบยกรักเท่ากันกับผัว
                   ทูลพลางตัวนางเริ่มระรัว                     ความกลัวพระอาญาเป็นพ้นไป

            คำกราบทูลของนางวันทอง  เหมือนดินประสิวปลิวติดกับเปลวไฟ  ทำให้สมเด็จพระพันวษา
กริ้วเป็นที่สุด
  ถึงกับมีพระบรมราชโองการให้ประหารนางเสียทั้งยังทรงปลอบชายผู้ก่อเหตุทั้งสามว่า

  .........................................                    อ้ายไวยมึงอย่านับว่ามารดา
                   กูเลี้ยงมึงถึงให้เป็นหัวหมื่น                 คนอื่นรู้ว่าแม่ขายหน้า
                   อ้ายขุนช้างขุนแผนทั้งสองรา               กูจะหาเมียให้อย่าอาลัย

นี่คือบทบาทสุดท้ายของนางวันทองที่สมเด็จพระพันวษาทรงเป็นผู้กำหนด
            การศึกษาวิเคราะห์ตัวละครข้างต้นนี้กระทำโดยสังเขปเท่านั้น  ถ้าคิดให้ละเอียดลึกซึ้งก็จะเห็นว่าพฤติกรรมของตัวละครที่เกิดขึ้นเป็นไปตามภูมิหลังและเงื่อนไขส่วนตัวของแต่ละคน  ทั้งพระไวย  ขุนช้าง 
ขุนแผน  นางวันทอง และสมเด็จพระพันวษาต่างก็เป็นมนุษย์ที่กอปรไปด้วยเลือดเนื้อ  อารมณ์  และความรู้รู้สึกทุกคนต่างก็คิดว่าตนมีเหตุผลในการกระทำ  นอกจากเหตุผลของปัจเจกบุคคลแล้วค่านิยม  ความเชื่อของสังคมมีส่วนทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไรได้ด้วย  ซึ่งไม่ยุติธรรมนักสำหรับสิทธิความเสมอภาคของมนุษย์  นางวันทองในเรื่องนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหญิงกาลกิณีอีแพศยา  เพราะมีสามีสองคนแต่ในขณะเดียวกันขุนแผนและพระไวยสามารถมีภรรยาหลายคนได้โดยสังคมไม่รังเกียจ  กลับนิยมยกย่องเพราะถือว่าเป็นเครื่องเสริมบารมีของบุรุษ  แต่ค่านิยมก็คือความนิยมว่าดีมีคุณค่าของคนส่วนใหญ่ในสังคมแต่ละสมัย  ซึ่งคนในสังคมนั้น ๆ ต้องยอมรับถ้าปรารถนาจะอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
            เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีที่สะท้อนความเป็นไทยไว้มากมายหลายด้านนักเรียนจะได้เห็น
วิถีชีวิตความเป็นอยู่
  ความคิด  ความเชื่อ   และค่านิยมของคนไทยในสมัยอยุธยาและต้น
รัตนโกสินทร์
  ในปัจจุบันบางอย่างก็เปลี่ยนไปบางอย่างก็ยังคงดำรงอยู่  ที่ ปฏิเสธมิได้คือความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้ออารมณ์และความรู้สึกของบรรดา ตัวละครทั้งหลายในเรื่องนี้ยังคงพบเห็นได้อยู่เสมอไม่แปรเปลี่ยน
            การที่ผู้อ่านผู้ฟังหรือผู้ชมการแสดงเรื่องขุนช้างขุนแผนมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวและตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง  เพราะกวีมีกลวิธีการนำเสนอ  และการใช้สำนวนโวหารที่มีชีวิตชีวาและมีสีสัน
จัดจ้าน  จะเห็นว่ากวีเน้นย้ำที่ความคิดอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครตลอดเวลาที่เล่าเรื่อง  ให้ตัวละครย้อนคิดไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตอยู่เสมอเพื่อเป็นเหตุผลของการกระทำในปัจจุบัน  ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้อ่านไม่ลืมเรื่องแล้วยังช่วยให้เข้าใจตัวละครด้วย เช่น  การที่พระไวยจะไปพานางวันทองมาจากขุนช้างเพราะความแค้นจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต  หรือตอนที่นางวันทองไม่ยอมไปกับพระไวยเพราะคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่วุ่นวายระหว่างนาง   ขุนช้าง  และขุนแผน  จึงขอให้พระไวยไปกราบทูลพระพันวษาให้ทรงช่วยเหลือแทนที่จะกระทำไปโดยพลการ เป็นต้น
            การใช้ถ้อยคำและสำนวนโวหารในเรื่องขุนช้างขุนแผน ง่าย งามและมีพลัง  นอกจากจะสรางภาพของตัวละครได้ชัดเจนแล้ว  ยังสามารถกระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกของผู้อ่านให้คล้อยตามอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้ด้วย  ทำให้เกิดรสวรรณคดีที่หลากหลาย  เช่น  ตอนที่ขุนช้างฟื้นตื่นขึ้นมาไม่มีผ้าติดกายข้าไทที่เป็นหญิงในบ้านเห็นเข้าก็ตกใจ  


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น